การจัดฟัน การจัดฟันเป็นกระบวนการวิธีรักษาทางทันตกรรมที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งช่วยแก้ปัญหาการจัดเรียงตัวของฟันที่ผิดปกติให้เป็นระเบียบยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการบดเคี้ยวอาหารที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมีผลต่อรูปหน้าอีกด้วย อันเนื่องมาจากการเคลื่อนของกระดูกขากรรไกรนั่นเอง นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาการสบฟันที่ไม่พอดี อาจจะทำให้ทำความสะอาดได้ยากลำบากและเกิดปัญหาฟันผุหรือโรคเหงือกตามมา ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร และยังส่งผลกระทบต่อการกดทับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการบดเคี้ยว โดยสามารถทำให้ปวดศีรษะหรือมีอาการปวดบริเวณคอ ไหล่ และช่วงหลังได้ ผู้ที่ควรได้รับการจัดฟันมักจะมีอาการฟันยื่น ฟันกัดคร่อมหรือเบี้ยว ฟันห่าง ฟันซ้อน และฟันสบเปิด ทันตแพทย์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในการจัดฟัน จะเป็นผู้พิจารณาว่าคนไข้ควรได้รับการจัดฟันแบบใด ซึ่งมีทั้งแบบติดแน่นและแบบถอดออกได้ เพื่อให้การจัดฟันนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด รูปแสดงลักษณะความผิดปกติของการสบฟันแบบต่างๆ
Author Archives: admin
การฟอกฟันขาว การฟอกฟันขาว (Teeth Whitening) เป็นวิธีการรักษาฟันที่มีสีหมองคล้ำ อันเนื่องมาจากสีของอาหารอย่างเช่นซีอิ๊วดำ เครื่องดื่มชาหรือกาแฟ และบุหรี่ เป็นต้น รวมถึงสาเหตุที่เกิดจากภายในตัวฟัน จึงทำให้ฟันแลดูขาวสะอาดสดใสตามที่ต้องการ การฟอกฟันขาว มีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่ 1. การฟอกฟันขาวที่บ้าน 2.การฟอกฟันขาวด้วยแสงเย็น 3.การฟอกฟันขาวด้วยเลเซอร์ การฟอกฟันขาวหรือการฟอกสีฟันนั้น สามารถกระทำได้ด้วยตนเองหรือให้ทันตแพทย์เป็นผู้ฟอกสีฟันให้ ซึ่งการฟอกสีฟันด้วยตนเองเหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่ค่อยมีคราบเหลืองหรือสีฟันคล้ำมากนัก โดยอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะจึงจะเห็นผล ส่วนการฟอกฟันขาวที่คลินิกทันตกรรมจะเหมาะสำหรับผู้ที่มีคราบฝังแน่นติดที่ผิวฟัน ซึ่งทันตแพทย์จะใช้สารเคมีที่มีลักษณะเป็นเจลป้ายลงไปที่ผิวฟัน จากนั้นใช้แสงเลเซอร์หรือเครื่องมืออื่นๆ ในการกระตุ้นให้คราบหลุดออกง่ายขึ้น โดยผลของการฟอกฟันขาว จะขึ้นกับปัจจัยของพื้นฐานของฟันแต่ละบุคลล ดังนั้นการฟอกฟันขาวจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาฟันมีสีคล้ำได้นั่นเอง ผู้ที่มีฟันขาวสะอาดจึงมักจะมีบุคลิกภาพที่ดี และทำให้มั่นใจในรอยยิ้มของตนเองมากขึ้น
การทำฟันปลอมชนิดถอดได้ การทำฟันปลอมชนิดถอดได้เป็นการทำทันตกรรมที่เรียกว่า “ทันตกรรมประดิษฐ์” กล่าวคือ การทำฟันปลอมให้กับผู้ที่ยังมีฟันตามธรรมชาติหลงเหลืออยู่ โดยเป็นการบูรณะฟันธรรมชาติด้วยการทดแทนส่วนของฟันและโครงสร้างฟันที่หายไปให้กลับมาใช้งานได้มีประสิทธิภาพอีกครั้ง ฟันปลอมชนิดถอดได้สามารถดูแลและถอดออกมาล้างทำความสะอาดได้ง่าย ซึ่งไม่ได้ติดแน่นถาวรภายในช่องปากนั่นเอง และยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย โดยปกติเราจะแบ่งประเภทของฟันปลอมชนิดถอดได้ออกเป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของวัสดุดังนี้ ฟันปลอมฐานอะคริลิก สามารถซ่อมแซมและเติมฟันลงไปใหม่ได้ มีราคาถูก แต่ไม่คงทนแข็งแรง ฟันปลอมฐานโลหะ แข็งแรงและทนทาน แต่สีดูไม่เป็นธรรมชาติ ฟันปลอมฐาน Valplast มีความเบา ยืดหยุ่น แข็งแรงดี แลดูเป็นธรรมชาติสูง การพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับผู้ที่ใส่ฟันปลอมชนิดถอดได้ เพื่อให้ทันตแพทย์ได้ตรวจเช็คเนื้อเยื่อภายในช่องปากเกี่ยวกับรอยโรคและการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ
การทำรากฟันเทียม การทำรากฟันเทียมเป็นวิธีทางทันตกรรมอย่างหนึ่ง จะทำให้กรณีที่มีการสูญเสียฟันไป อาจจะเกิดจากหลายๆสาเหตุ เช่น ฟันผุ ฟันแตก หรือ เกิดอุบัติเหตุทำให้ต้องถอนฟันไป การทำรากฟันเทียมเพื่อปลูกรากฟันเทียมทดแทนรากฟันจริง ช่วยให้ผู้ที่สูญเสียฟันแท้สามารถมีฟันเสมือนจริงและใช้งานได้เหมือนเดิม ซึ่งวิธีนี้จะสามารถช่วยทดแทนฟันปลอมและสะพานฟันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีความแข็งแรงและไม่ทำให้สูญเสียเคลือบฟันบริเวณใกล้เคียงอีกด้วย การทำรากฟันเทียมเป็นการผ่าตัดโดยนำเอาโลหะผสมหรือโครงฝังลงภายใต้เหงือก ในบริเวณตำแหน่งของขากรรไกร จนกว่ารากเทียมกับกระดูกขากรรไกรจะประสานกันสนิท จากนั้นจะนำฟันใหม่มายึดติดกับรากฟันเทียมนี้ ซึ่งมีประโยชน์ต่อการพูดและเคี้ยวอาหารอย่างยิ่ง เพราะให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติมากกว่าฟันปลอมแบบธรรมดานั่นเอง สำหรับการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการทำรากฟันเทียมนั้น จะต้องมีสุขภาพเหงือกที่แข็งแรงและมีกระดูกขากรรไกรมากพอที่จะรองรับรากฟันเทียมนี้ได้ รักษาสุขอนามัยภายในช่องปากให้ดีอยู่เสมอ และไปพบทันตแพทย์ตามนัด นอกจากนี้การทำรากฟันเทียมยังมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการรักษาแบบอื่น
การทำครอบฟัน การทำครอบฟันเป็นวิธีการบูรณะฟันอย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับความเสียหายหรือการแตกหัก อันเนื่องมาจากสบฟัน การรักษารากฟัน ฟันผุที่มีรูขนาดใหญ่ รวมถึงความเสื่อมของฟันตามกาลเวลา การครอบฟันจึงช่วยให้ฟันมีความแข็งแรงมากขึ้น และสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเดิม ใครควรได้รับการรักษาด้วยวิธีครอบฟัน ผู้ที่ควรได้รับการทำครอบฟันจึงมักจะมีสภาพฟันที่ไม่เหมาะสมกับการรักษาด้วยการทำทันตกรรมวิธีอื่น เช่น ฟักหักหรือฟันร้าว ฟันที่อุดมานาน การรักษาสะพานฟัน ฟันที่มีรูผุขนาดใหญ่ หรือหลังการรักษารากฟัน เป็นต้น วัสดุที่นำมาใช้ครอบฟัน วัสดุที่นำมาใช้มีหลากหลายชนิดด้วยกัน โดยมีทั้งข้อดี ข้อเสีย ความเป็นธรรมชาติ และราคาที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีตั้งแต่วัสดุโลหะล้วนอย่างเช่นทอง วัสดุที่เป็นเรซินกับเซรามิก และวัสดุที่เป็นเซรามิกผสมกับโลหะ
การทำสะพานฟัน สะพานฟันจะทำให้กรณีที่ฟันถูกถอนไป เนื่องจากสาเหตุต่างๆเช่น ฟันผุ ฟันแตก เป็นต้น การทำสะพานฟันเป็นการทำฟันปลอมอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นฟันปลอมชนิดติดแน่น ซึ่งจะช่วยรักษารูปหน้า การพูด และการเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยป้องกันไม่ให้ฟันซี่อื่นๆ เคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิม หรือที่เรียกกันว่า “ฟันล้ม” นั่นเอง การทำสะพานฟันเป็นการทดแทนฟันที่สูญเสียไป โดยมีสะพานที่เชื่อมต่อระหว่างฟันซี่ข้างเคียง ซึ่งฟันที่อยู่ข้างๆ ฟันที่สูญเสียนั้นจะเรียกว่า “ฟันหลัก” ส่วนฟันที่ทดแทนจะเรียกว่า “ฟันตัวลอย” หรือฟันปลอม (Pontic) โดยแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้ สะพานฟันแบบธรรมดา เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด สะพานฟันแบบมีหลักยึดข้างเดียว สำหรับผู้ที่ไม่มีฟันข้างใดข้างหนึ่งของฟันที่สูญเสียไป สะพานฟันแบบแมรี่แลนด์ มีแกนลักษณะคล้ายปีกใช้ในการติดยึดด้านหลังของฟันหลักทั้งสองซี่ สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำสะพานฟันนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะและพื้นที่ของฟันที่สูญเสีย โดยสะพานฟันมีอายุการใช้งานได้หลายปี หากดูแลและรักษาความสะอาดเป็นอย่างดีค่ะ
ทันตกรรมสำหรับเด็ก ทันตกรรมสำหรับเด็กหรือ Pedodontics เป็นทันตกรรมอีกสาขาหนึ่งที่ช่วยให้คำปรึกษา การดูแลรักษา และแก้ปัญหาสุขภาพภายในช่องปากสำหรับเด็ก ตั้งแต่วัยแรกเกิดจนถึงอายุประมาณ 15 ปี ซึ่งมีความแตกต่างจากการทำทันตกรรมสำหรับผู้ใหญ่ ทั้งด้านโครงสร้างลักษณะของฟันและหลักจิตวิทยาที่จะช่วยโน้มน้าวให้เด็กยินยอมทำฟันง่ายขึ้นนั่นเอง การทำทันตกรรมสำหรับเด็กนั้นมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสุขภาพฟัน การขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ การอุดฟัน การถอนฟัน การขูดหินปูน การรักษารากฟันน้ำนม การรักษาโพรงประสาทฟัน การครอบฟันน้ำนมในกรณีที่มีฟันผุลุกลาม การผนึกหลุมร่องฟันเพื่อป้องกันฟันผุ การ X – Ray การจัดฟันเบื้องต้น และการใส่เครื่องมือกันฟันล้มหรือเครื่องมือขยายช่องว่างสำหรับฟันแท้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นสุขภาพฟันที่ดีต้องเริ่มต้นมาจากวัยเด็ก โดยควรดูแลตั้งแต่ที่ยังเป็นฟันน้ำนมจนกระทั่งเป็นฟันแท้ จะช่วยให้เด็กๆ มีสุขภาพฟันที่ดี สามารถใช้บดเคี้ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับมีรอยยิ้มที่สดใสอีกด้วยค่ะ
การรักษารากฟัน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ปล่อยปละละเลยการดูแลสุขอนามัยภายในช่องปาก จึงทำให้เกิดฟันผุและไม่รักษาโดยการอุดฟัน ก็จะทำให้ฟันผุลุกลามมากขึ้นจนถึงชั้นโพรงประสาทฟัน และมีอาการอักเสบ เกิดฝีหรือถุงหนองที่ปลายรากฟัน กลายเป็นแหล่งเชื้อโรคและทำให้ปวดทรมานมาก การรักษารากฟันเป็นการตัดโพรงประสาทฟันหรือเนื้อเยื่อที่มีขนาดเล็กอยู่ใจกลางฟัน เมื่อทันตแพทย์ทำการตัดโพรงประสาทฟันที่มีการอักเสบหรือถูกทำลายออกแล้ว พื้นที่ส่วนที่เหลือจะทำความสะอาด จัดแต่งรูปทรง และอุดเพื่อปิดคลุมรากฟัน ซึ่งถ้าเป็นการทำทันตกรรมในอดีตจะต้องถูกถอนออก แต่ในปัจจุบันการรักษารากฟันจะช่วยรักษาฟันเอาไว้ได้ การรักษารากฟันมีวิธีการรักษาที่ค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนพอสมควร ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายมากเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของคนไข้แต่ละราย เพราะฉะนั้นการพิจารณาว่าควรรักษารากฟันหรือไม่ ควรให้ทันตแพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคจะดีที่สุด
การขูดหินปูน หินปูนหรือหินน้ำลายเป็นแผ่นคราบจุลินทรีย์ (Bacterial Plaque) ที่มีการแข็งตัวมาจากธาตุแคลเซียมในน้ำลายเข้าไปตกตะกอน มีลักษณะเป็นคราบสีขาวขุ่นที่ประกอบไปด้วยเชื้อโรคติดแน่นอยู่บนตัวฟัน ถึงแม้ว่าจะบ้วนน้ำเป็นอย่างดีก็ไม่สามารถหลุดออกไปได้ หินปูนเกิดขึ้นได้อย่างไร เมื่อเราแปรงฟันเพียง 2 – 3 นาที จะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่อยู่ในช่องปากจะมาทับถมจนเกิดเป็นคราบจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ หากเราไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์นี้จะเกิดการสะสมมากขึ้นและเป็นอันตรายต่อฟันและเหงือก โดยเฉพาะบริเวณคอฟัน ความจำเป็นในการขูดหินปูน การทำความสะอาดฟันที่ไม่สะอาดเพียงพอ มีส่วนช่วยให้เกิดหินปูนได้ง่าย แม้แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองเห็นยาก จึงทำให้มีหินปูนที่กำจัดออกได้ยาก เราจึงต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยทำการขูดหินปูนออกแล้วทำรากฟันให้เรียบ เพื่อให้เหงือกสามารถยึดรอบตัวฟันแน่นเหมือนเดิม สิ่งสำคัญที่สุดคือ ภายหลังจากทำการขูดหินปูนแล้ว เราควรที่จะดูแลสุขภาพช่องปากให้ถูกต้องทุกวัน ได้แก่ เราควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ใช้ยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันทุกวัน ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดลิ้น ใช้น้ำยาบ้วนปากที่ผสมฟลูออไรด์ และที่สำคัญ ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
การถอนฟัน การถอนฟันเป็นหนึ่งในวิธีทางทันตกรรมที่สามารถช่วยรักษาฟันได้อย่างรวดเร็วที่สุด แต่ก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียฟันไปด้วย ซึ่งมักจะเป็นฟันที่มีสภาพเกินจะเยียวยารักษาได้นั่นเอง หรือฟันมีปัญหาบางประการที่ทันตแพทย์เห็นสมควรให้ถอนออก ลักษณะฟันที่จำเป็นต้องถอนฟัน ฟันผุทะลุถึงโพรงประสาทฟันหรือฟันที่มีหนองบริเวณปลายรากฟัน จนไม่สามารถรักษาทางทันตกรรมอื่นๆ ได้ มีปัญหาโรคเหงือกอย่างรุนแรง ฟันหักอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ฟันคุดหรือฟันที่มีรูปร่างผิดปกติ และฟันที่ขึ้นในตำแหน่งผิดปกติ ฟันที่มีพยาธิสภาพอย่างเช่นมีถุงน้ำหรือเนื้องอก ฟันเกินที่ขึ้นมาไม่เป็นระเบียบ การพิจารณาว่าจะต้องถอนฟันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยและดุลพินิจจากทันตแพทย์เท่านั้น ซึ่งทันตแพทย์จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับสุขภาพของผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมถึงผู้ป่วยที่มีเลือดออกง่ายและหยุดยาก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดภายหลังการถอนฟันค่ะ ภายหลังจากการถอนฟัน เมื่อแผลหายดีแล้ว ควรที่จะใส่ฟันเพื่อทดแทนฟันที่ถูกถอนไป เพื่อป้องกันฟันซี่ข้างเคียงจะล้มเข้าหาช่องว่าง และป้องกันการละลายตัวของกระดูกบริเวณรอบๆซี่ฟันที่ถูกถอนออกไป ซึ่งการทดแทนฟันซี่ที่ถูกถอนไป มีหลายวิธี เช่น การใส่ฟันปลอม ซึ่งมีทั้งแบบถอดได้ และแบบติดแน่น หรือ การทำรากฟันเทียมเป็นต้น