การดูแลสุขภาพฟันผู้สูงอายุ

การดูแลสุขภาพฟันผู้สูงอายุ

การดูแลสุขภาพฟันจำเป็นสำหรับคนทุกวัย ยิ่งผู้สูงอายุด้วยแล้วยิ่งต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากฟันของท่านผ่านการใช้งานมานาน ผ่านปัญหาทั้งที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ ทำให้บางท่านสูญเสียฟันแท้ไปแล้ว ต้องใส่ฟันปลอม บางท่านอาจมีการปล่อยให้มีช่องว่างของฟัน เพราะมีปัญหาเรื่องการใส่ฟันปลอม ซึ่งปัญหาทั้งหลายมีผลต่อการดูแลสุขภาพฟันในปัจจุบันทั้งสิ้น

ปัญหาสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุมีอะไรบ้าง

ปัญหาสุขภาพฟันผู้สูงอายุนั้น พบไม่ต่างจากคนทุกวัย เช่น

  1. ฟันผุ ฟันผุในผู้สูงวัยเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากผู้สูงวัยอาจดูแลเรื่องการรักษาความสะอาดของฟันได้ไม่ดีเหมือนเดิม รวมถึงฟันที่ผ่านการสะสมปัญหาตามวันเวลาด้วย
  2. เหงือกอักเสบ
  3. ปริทันต์อักเสบอันเนื่องจากคราบจุลินทรีย์ที่สะสมบริเวณฟันและขอบเหงือก
  4. ปัญหารากฟันอักเสบ
  5. อาการเสียวฟัน
  6. อาการปากแห้ง
  7. สูญเสียฟันแท้ไป

เรียกว่า เมื่อเวลาผ่านไป สุขภาพก็เสื่อมตามกาลเวลา ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย หรือสุขภาพในช่องปาก

ปัญหาการสูญเสียฟันแท้

การต้องถอนฟันแท้ทิ้งไป ดูเหมือนจะเป็นปัญหาสุขภาพฟันของผู้สูงวัยทั้งหมด บางคนถอนหลายซี่ บางคนอาจถึงจุดที่เสียฟันแท้ทั้งปาก ส่วนสาเหตุนั้น ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุดังนี้

  1. มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟัน และปัญหาในช่องปากมาตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ บางคนเป็นตั้งแต่เด็กจากปัญหารับประทานยาบางประเภท ทำให้ฟันไม่แข็งแรง ปัญหาอื่นๆ หลายอย่างที่มีผลต่อเนื่องต่อสุขภาพฟัน ทำให้ฟันผุง่าย บางทีลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน ทำรากฟันเทียม ต้องครอบฟัน และก็มีที่ต้องเสียฟันซี่นั้นๆ ไปเลย
  2. บางครั้งการสูญเสียฟันแท้มีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นเหงือกอักเสบที่มีที่มาจากเชื้อจุลินทรีย์ที่เกาะฟัน ผลิตสารพิษทำให้เป็นโรคเหงือกอักเสบ ปริทันต์อักเสบ และลุกลามจนถึงทำลายเนื้อเยื่อ ฯลฯ และสุดท้ายสูญเสียฟัน
  3. การสูญเสียฟันจากโรคประจำตัวของผู้สูงอายุเอง ทำให้ต้องรับประทานยาบางชนิดที่มีผลข้างเคียงที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำลายน้อยลง ไม่มีน้ำลายพอที่จะเจือจางความเป็นกรดที่เกิดขึ้นในปาก ส่งผลให้ฟันผุทำลายเร็วขึ้น จนที่สุดก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เสียฟันแท้
  4. การสูญเสียฟันแท้ อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลย ไม่ค่อยได้ใส่ใจดูแลฟัน เพราะความเข้าใจผิดคิดว่า แก่แล้ว ฟันก็หักไปตามวัย ซึ่งไม่จริง เพราะหากดูแลรักษาฟันให้มีสุขภาพดี ก็สามารถมีฟันแท้ใช้งานได้ดีอีกยาวนาน แต่การปล่อยปละทำให้เกิดปัญหา กว่าจะถึงมือทันตแพทย์ก็ต้องเสียฟันไปถาวรก็มี ดังนั้น แม้อยู่ในวัยสูงอายุแล้ว ก็ยังต้องพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือนเหมือนเดิม
  5. เมื่อสูญเสียฟันแท้ไป มักมีปัญหาอื่นตามมาอีก เมื่อขาดฟันที่จำเป็นต้องใช้ในการกัด ฉีก บดเคี้ยวอาหาร ผู้สูงอายุก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมการเคี้ยวอาหารไป เป็นเคี้ยวน้อยลงบ้าง ใช้ฟันผิดหน้าที่บ้าง อาหารอาจถูกกลืนทั้งที่ยังบดไม่ละเอียด อาหารบางอย่างอาจถูกเพิกเฉย ไม่รับประทานอีกต่อไป จึงยิ่งเกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟัน สุขภาพกาย เพิ่มขึ้นไปอีก

 

การดูแลฟันในผู้สูงอายุ

  1. ดูแลรักษาฟันให้มีสุขภาพดีให้นานที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องใส่ฟันปลอมทั้งปาก โดยรักษาความสะอาดด้วยการแปรงฟันวันละ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย แปรงให้ถูกวิธี เลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มมีความยืดหยุ่น ยาสีฟันต้องมีฟลูออไรด์ และใช้ไหมขัดฟันสม่ำเสมอ
  2. การเลือกรับประทานอาหารยังมีผลต่อเนื่องกับสุขภาพฟัน อาหารประเภทปลา เนื้อสัตว์และผักใบเขียว เพื่อเพิ่มฟลูออไรด์ และอาหารอื่นให้ครบ 5 หมู่ และพอเพียง แต่อาจต้องเพิ่มความอ่อนนิ่มของอาหาร เคี้ยวง่าย ไม่เหนียว เพราะประสิทธิภาพในการบดเคี้ยวอาจลดน้อยลงตามวัยและสภาพฟันที่ผู้สูงวัยอาจทำความสะอาดฟันได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าเมื่อก่อน และควรดูแลไม่ให้มีการรับประทานอาหารจุบจิบ อาหารหวาน แต่อาหารที่มีเส้นใยยังจำเป็นเพื่อการขับถ่ายที่ดี เลือกเป็นธัญพืชหรือผลไม้ที่มีกากใย อีกกลุ่มที่ควรเลี่ยงก็คือ อาหารและเครื่องดื่มที่ทำให้เป็นน้ำตาลสะสม มีความเป็นกรด ส่งผลให้มีโอกาสฟันผุง่าย
  3. กรณีที่ผู้สูงอายุมีฟันปลอม ต้องเพิ่มการดูแลทำความสะอาดฟันปลอมด้วย ส่วนใหญ่จะให้ผู้สูงอายุดูแลโดยรวมเอง แต่เราบริการอำนวยความสะดวก และคอยช่วยดูอาการบิ่นชำรุดของฟันปลอม ซึ่งฟันปลอมนั้นต้องมีการแปรงทำความสะอาดเหมือนฟันจริง ต้องมีการแช่ฟันปลอมเพื่อไม่ให้แห้ง ไม่แช่ในน้ำร้อนที่เดือดๆ เพราะจะผิดรูปใส่ไม่ได้ ผู้ดูแลต้องใส่ใจผู้สูงอายุที่ใช้ฟันปลอมว่า ใส่แล้วเคี้ยวอาหารมีปัญหาหรือไม่ ใส่แล้วมีอาการเจ็บหรือผิดแปลกไปจากเดิมหรือไม่ และช่วยแก้ไข นำไปพบทันตแพทย์ให้ทันท่วงที ไม่ก่อให้มีปัญหาข้างเคียง ไม่ว่าจะเป็นแผลในปาก หรือกินอาหารไม่ได้ เป็นต้น
  4. การดูแลสุขภาพเหงือกของผู้สูงอายุ ฟันคู่กับเหงือก ถ้าเหงือกสุขภาพไม่ดีก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพฟันไปด้วย บางทีผู้ดูแลต้องหมั่นสังเกตอาการและสอบถามเมื่อเห็นท่าทีผิดปกติ

การดูแลสุขภาพฟันควรเริ่มต้นแต่เยาว์วัย เพื่อลดปัญหาสุขภาพฟันเมื่อสูงอายุ แต่หากผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว ผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลสุขภาพฟันเป็นกรณีพิเศษ เพราะมีปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม และเป็นปัญหาเฉพาะวัยจริงๆ

 

 

ย้อนกลับด้านบน